สุดยอด “แหล่งกินทุเรียน” ทั่วไทย อร่อยได้ใจคอทุเรียน

 

บรรดาคอทุเรียนคงจะรู้ดีกันอยู่แล้วว่า ทางภาคตะวันออกของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดระยองและจันทบุรี เป็นแหล่งปลูกทุเรียนอร่อยๆ ที่เราได้กินกันทุกๆ ปี แต่รู้หรือไม่ว่า ในบ้านเรานั้นยังมีอีกหลายๆ แห่งที่สามารถปลูกทุเรียน และมีผลผลิตอร่อยๆ ออกมาให้เราได้ลิ้มลองเช่นกัน

.

เริ่มแรกกันที่ “นนทบุรี” ที่นี่เป็นตำนานทุเรียนอีกแห่งหนึ่ง ขึ้นชื่อว่า “ทุเรียนนนท์” นั้น หลายๆ คนต้องนึกถึงทุเรียนก้านยาว รสชาติดี ราคาแพง กับสำนวนที่ว่า “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” อันมีความหมายถึงทุเรียนก้านยาวนั้นเป็นของฝากชั้นดี ที่นิยมซื้อไปฝากคนสำคัญ

.

ทุเรียนนนท์เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงมานาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินในจังหวัดนนทบุรีที่เป็นดินตะกอนสะสมจากแม่น้ำ ทำให้ผลไม้หลายๆ อย่างที่ปลูกในแถบนี้โดยเฉพาะทุเรียนมีรสชาติดี ให้รสหวานมันนุ่มนวลแตกต่างจากทุเรียนภาคอื่นๆ ใครที่ได้กินก็ต้องติดใจ จนทุเรียนนนท์มีชื่อเสียงโด่งดังกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี

.

ปัจจุบันทุเรียนนนท์หากินได้ยากยิ่ง เพราะเมื่อเมืองขยายตัว สวนทุเรียนถูกเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรร ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2538 สวนทุเรียนต้องแช่อยู่ในน้ำนานหลายเดือนและทยอยตายไปจนเกือบหมดสวน ปัจจุบันทุเรียนนนท์จึงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งและน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้สวนทุเรียนนนท์ที่มีน้อยอยู่แล้วเหลือน้อยลงไปอีก

.

.


“ปราจีนบุรี” เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่หลายคนบอกว่าทุเรียนหมอนทองของที่นี่รสชาติดี ก็เนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกใน จ.ปราจีนบุรี มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก ทำให้ทุเรียนรสชาติอร่อย เนื้อแน่น มีเอกลักษณ์ของตัวเอง

.

“นครนายก” ที่นี่มีหลายสวนที่ปลูกทุเรียน รวมถึงผลไม้อีกหลากหลายชนิด อย่างเช่นที่สวนละอองฟ้า ซึ่งเป็นสวนอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียน ที่รวบรวมทุเรียนกว่า 50 สายพันธุ์มาปลูกไว้ มีทุเรียนพันธุ์แปลกๆ ที่เราไม่เคยได้ยินชื่ออยู่หลายพันธุ์เลยทีเดียว

.

“ทองผาภูมิ” นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เนื่องจากถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ยังมีสวนผลไม้ที่ปลูกทุเรียนอร่อยๆ ให้ได้กินกันด้วย ความอร่อยของทุเรียนทองผาภูมินั้น การันตีได้จากการจัดงานวันผลไม้ของดีอำเภอทองผาภูมิ ที่จะมีทุเรียน และบรรดาผลไม้อีกหลากหลายชนิดมาให้ลองชิมกัน

.

“ราชบุรี” ที่นี่มีสวนผลไม้อยู่หลายสวนเช่นกัน อย่างเช่นใน อ.ปากท่อ ก็มีสวนผลไม้ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชิมผลไม้สดๆ จากไร่ทุกปี ทุเรียนหมอนทองของที่นี่มีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ เมื่อสุกแล้วกลิ่นจะไม่แรงมาก เม็ดลีบ เนื้อเยอะ

.

.


“ปากช่อง” ทุเรียนปากช่องนั้นเป็นอีกหนึ่งของฝากของจังหวัดนครราชสีมา ทุเรียนของที่นี่มีทั้งหมอนทอง ชะนี ก้านยาว อันเป็นทุเรียนพันธุ์ยอดนิยม อย่างทุเรียนหมอนทองนั้นก็จะเนื้อแห้ง กรอบนอกนุ่มใน เม็ดลีบ ส่วนทุเรียนชะนีก็เนื้อเหนียว กลิ่นไม่แรง

.

“พิษณุโลก” ก็มีทุเรียนอร่อยจากสวนชื่อดัง “สวนหลงรักไทย” ที่นี่มีทุเรียนพันธุ์เด่นคือ หลง-หลิน จาก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ที่นำมาปลูกที่พิษณุโลก และให้รสชาติความอร่อยที่ไม่แตกต่างไปจากทุเรียนหลง-หลินต้นตำรับ นอกจากนี้ยังมีทุเรียนพันธุ์โบราณหายากอื่นๆ อีกรวมแล้วกว่า 30 สายพันธุ์

.

.


“ลับแล” ขึ้นชื่อว่าเป็นทุเรียนอร่อยของ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ก็ต้องเป็นทุเรียนพันธุ์ “หลง” และ “หลิน” ทุเรียนสองชนิดนี้ปลูกอยู่บนภูเขา เพราะพื้นที่ในอำเภอลับแลเป็นภูเขา การดูแลรักษาจึงมีความลำบากไม่น้อย ซึ่งไม่สามารถนำน้ำขึ้นไปรดได้ทุกต้น ผลผลิตจึงต้องขึ้นอยู่กับฟ้าฝน และการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบกิ่งกับต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งก็ทำใช้เวลานานกว่า 6-8 ปี จึงจะได้ผลผลิต และเมื่อได้ผลผลิตแล้ว ก็ต้องใช้ความชำนาญในการเก็บ เพราะทุเรียนแต่ละต้นนั้นสูงใหญ่และตั้งอยู่ตามเนินเขา อีกทั้งการลำเลียงผลทุเรียนออกจากสวนที่อยู่ในภูเขา ก็ต้องใส่ลูกทุเรียนไว้ในตะแกรงที่ติดไว้กับรถจักรยานยนต์ เพื่อขนทุเรียนลงมาจากบนเขา ซึ่งแต่ละเที่ยวก็บรรทุกได้น้อย อีกทั้งเส้นทางในการขนลงมาก็คดเคี้ยวลาดชัน ทำให้ทุเรียนทั้งสองสายพันธุ์มีราคาค่อนข้างสูง

.

“หลงลับแล” ผลจะมีขนาดเล็ก แต่ละลูกจะมีน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม มีลักษณะผลค่อนข้างกลม เนื้อมีสีเหลืองเข้ม เมื่อได้ลองกินจะรู้สึกเหนียวละเอียดแต่ไม่เละ รสหวานมันหอมอ่อนๆ ไม่แรง “หลินลับแล” รูปลักษณ์ออกเป็นแนวตั้ง แต่ละภูแยกกันอย่างชัดเจน มองดูแล้วคล้ายกับมะเฟือง ขนาดแต่ละลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม ในส่วนเนื้อในจะมีสีเหลืองอ่อน เมื่อได้ลองชิมจะรู้สึกว่า เนื้อจะแห้งไม่เละ รสหวานมัน กลิ่นหอมไม่แรง และเม็ดลีบ

.

.


“ศรีสะเกษ” ส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และแม้ว่าสายพันธุ์ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกอยู่ที่ศรีสะเกษนั้นจะมาจากจังหวัดจันทบุรี แต่เนื่องจากพื้นที่ในการปลูก ด้วยสภาพแวดล้อมของศรีสะเกษซึ่งเป็นพื้นที่ดินภูเขาไฟเก่า มีอากาศแห้งแบบที่ราบสูง ไม่เหมือนกับทางจันทบุรีที่มีในตกชุกกว่า ทำให้แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันแต่ก็มีรสชาติแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่ปลูก
.
ความเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนศรีสะเกษนั้นอยู่ที่เนื้อนุ่ม กรอบ รสชาติดี ไม่แฉะติดมือ และมีพูที่สวยงาม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทุเรียนศรีสะเกษได้รับความนิยมนั้นก็เกิดจากมีผู้ที่ได้มาลิ้มลองทุเรียนของศรีสะเกษแล้วเกิดติดใจ และบอกกันปากต่อปาก จนทำให้คนหันมาสนใจกินทุเรียนจากศรีสะเกษมากขึ้น

.

“สุราษฎร์ธานี” คำขวัญเก่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้กล่าวถึง “ทุเรียนหวานมันคลองพระแสง” นั่นหมายถึงที่สุราษฎร์ธานีจะต้องมีทุเรียนอร่อยๆ ให้ลองชิม ซึ่งทุเรียนคลองพระแสงนั้นก็เป็นทุเรียนที่อร่อยขึ้นชื่อ จนมีการเปิดสวนผลไม้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชิมความอร่อยแบบสดๆ จากต้น

.

.


“ชุมพร” ด้วยพื้นที่เพาะปลูกที่มีดิน น้ำ อากาศ ขนาบด้วยลมมรสุมทะเล ทำให้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี หลงลับแล และพันธุ์จากอินโดนีเซีย

.

“ท่าศาลา” จ.นครศรีธรรมราช ที่นี่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกทุเรียนเพื่อส่งออก รวมถึงการปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆ แทนการปลูกยางพาราที่ราคาตกต่ำ ซึ่งนอกจากจะปลูกทุเรียนตามฤดูกาลแล้ว ก็ยังได้รับการสนับสนุนให้ปลูกทุเรียนนอกฤดูกาลอีกด้วย

.

“พังงา” ที่นี่มีทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นชื่อว่า “สาลิกา” นิยมปลูกกันที่ อ.กะปง เป็นทุเรียนที่มีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เนื้อหนา ละเอียด แน่น ไม่เละ นอกจากนี้ก็ยังมีการปลูกทุเรียนหลงลับแลอีกด้วย

.

สำหรับในช่วงนี้ ถือเป็นฤดูที่มีผลผลิตทุเรียนออกมาสู่ท้องคลาดมากที่สุด แต่ในปีนี้นั้น เนื่องจากมีปัญหาภัยแล้ง ทำให้สวนทุเรียนในแต่ละแห่งนั้นมีผลผลิตออกมาน้อยกว่าปกติ ทำให้ทุเรียนในปีนี้มีราคาแพงขึ้น ใครที่ชื่นชอบทุเรียนก็คงต้องควักเงินมากขึ้นเพื่อซื้อของกินที่อร่อยถูกใจ

.

ขอบคุณข้อมูล mgronline.com