‘ฮาลาลไทย’เปิดมิติโชว์ศักยภาพในเวทีโลกอิสลาม

แม้ประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศมุสลิม แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาสร้างระบบมาตรฐานงานด้านฮาลาลจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาหรับตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จนกระทั่งสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาประเทศอิสลาม(Standard and Metrology Institute for Islamic Countries, SMIIC) ภายใต้องค์การความร่วมมือชาติอิสลาม (Organization of Islamic Cooperation, OIC) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก UN รับประเทศไทยในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์มีฉันทามติร่วมกันประกาศรับประเทศไทยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มตั้งแต่ 1มกราคม 2560 เป็นต้นไป

.

และในปีนี้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาได้รับเกียรติเข้าร่วมประชุมมาตรฐานฮาลาลOIC/SMIIC (17th SMIIC Board of Directors (BOD) Meeting and 13th General Assembly (GA) Meeting) โดยงานนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกอิสลาม ซึ่งจัดประชุมทุกปี ปีนี้เป็นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 13และประชุมกรรมการอำนวยครั้งที่ 17ณ โรงแรมฮิลตัน จาบาล โอมาร์ คอนเวนชั่น ในมหานครมักกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียคณะผู้แทนประเทศไทยด้านมาตรฐานฮาลาลนำโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพร้อมด้วย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และ ปรัชญา ฉิมวิเศษ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ รวมถึง ดร.อัซอารีย์ สุขสุวรรณ นักวิจัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ นอกจากนี้อุมัร มะดามันกุงสุลไทย ประจำประเทศซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมด้วย

.

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่ามีการนำเสนอร่างมาตรฐานใหม่ เช่น มาตรฐานเครื่องสำอางฮาลาลซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิชาการแสดงบทบาทด้านวิทยาศาสตร์และมาตรวิทยาฮาลาลในการร่างมาตรฐานมาโดยตลอดที่ผ่านมาได้รับมอบหมายเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจในเรื่องร่างมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนฮะรอมทางห้องปฏิบัติการฮาลาลในมาตรฐานเครื่องสำอาง การจัดร่างมาตรฐาน Halal Food Additives ซึ่งเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล H number ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่จัดทำขึ้น รวมถึงได้รับความไว้วางใจในการร่างมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพฮาลาลอีกด้วย

.

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม คณะตัวแทนจากประเทศไทย ได้เข้าพบ ท่านสรจักร บูรณะสัมฤทธิกงสุลใหญ่ไทย และท่านอฐิคม ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทิศทางและสถานการณ์การส่งออกสินค้าระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย ต่อมาคณะตัวแทนจากประเทศไทยเข้าเยี่ยมเยือนท่านอับดุลสลาม ดาอุด อัลอับบาซีเลขาธิการของสถาบันกฎหมายอิสลามนานาชาติเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและเป็นประโยชน์ต่อสถานะของประเทศไทยใน OIC ทั้งสร้างการยอมรับของ IIFA ต่อประเทศไทยในอนาคต

.

พร้อมกันนี้คณะตัวแทนจากประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกิจการด้านฮาลาลกับท่านโมฮัมเมด บิน อับดุล การิม อัล-อิสสาเลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลกในการรับรองสินค้าฮาลาลทั้งนำเข้าและส่งออกเนื่องจากองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลกมีประสบการณ์ด้านฮาลาลมายาวนานกว่า 30 ปี และต้องการเป็นศูนย์กลางฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามสันนิบาตมุสลิมโลกยอมรับและกล่าวชื่นชมประเทศไทยในนโยบายฮาลาลเพื่อทุกคน (Halal for All) แม้ว่าประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศมุสลิม แต่มีความเข้าใจฮาลาลเป็นอย่างดี รวมถึงกระบวนการรับรองฮาลาลประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือเนื่องจากการบูรณาการฮาลาลแม่นยำ (Precision Halalization) ในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบจนถึงมือผู้บริโภคตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับทำให้สินค้าและบริการฮาลาลมีคุณภาพสูงและช่วยลดต้นทุนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคท้ายที่สุดสันนิบาตมุสลิมโลกต้องการประเทศไทยสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติฮาลาลและแสวงหาความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไป

.

อีกก้าวศักยภาพ‘ฮาลาลไทย’ ในเวทีระดับโลก